โพสต์เมื่อ: 20 มี.ค 2564 เวลา 14:56:35 น. อ่าน: 615 ครั้ง
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนประเภทใด การรับคำแนะนำจากหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่เคยมีมานั้นก็ไม่มีอะไรที่จะต้องเสีย
นักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ควรต้องเลือกกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ
โดย วอร์เรน บัฟเฟตต์
แน่นอนว่าการทำตามคำแนะนำของบัฟเฟตต์นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่รู้ว่าดัชนีคืออะไร
นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ เรามักจะพบดัชนีในตอนท้ายของหนังสือและมักจะเป็นเพียงรายการอ้างอิงหรือข้อมูลบรรณานุกรม ดัชนียังสามารถเป็นตัวชี้วัดหรือสัญญาณของบางสิ่ง อย่างไรก็ตาม ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นทั้งรายการและตัวชี้วัด
ในตลาดหลักทรัพย์ ดัชชีคือรายการหลักทรัพย์ที่สามารถถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ รายการเหล่านี้ได้รับการรวบรวมมาเพื่อให้นักวิเคราะห์สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงทางสถิติระดับมหภาคในตลาดได้ การเปลี่ยนแปลงทางสถิติเหล่านี้ทำให้นักลงทุนสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ในมุมกว้าง และในบางกรณี จะบอกให้รู้ถึงการเคลื่อนไหวของตลาดในอนาคตด้วย
โดยหลักแล้ว เพื่อให้ได้มุมมองว่าตลาดกำลังเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์จะรวบรวมดัชนีของบริษัทมหาชนที่เกี่ยวข้องแล้วเฉลี่ยราคาหุ้นหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ค่าเฉลี่ยเหล่านี้มีความสำคัญต่อนักลงทุนเพราะให้สัญญาณเตือนครั้งแรกของตลาดขาลง เช่นเดียวกับการให้เวลานักลงทุนในการเตรียมตัวสำหรับตลาดขาขึ้นที่กำลังจะมาถึง
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกเลยจัดทำขึ้นโดยชาร์ลส์ ดาว ที่เรียกว่า ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) ในการถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 1896 นั้นเป็นการรวมตัวกันของบริษัทที่มีการซื้อขายหุ้นแบบสาธารณะที่ใหญ่ที่สุด 12 บริษัทในสหรัฐอเมริกา แต่วันนี้ประกอบด้วยบริษัทที่มีอิทธิพลมากที่สุด 30 บริษัทในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 25% ของมูลค่าตลาดหุ้นในอเมริกาเหนือ
โดยการดูข้อมูลทางสถิติของ DJIA เพียงอย่างเดียว นักลงทุนจะได้เห็นมุมมองของตลาดสหรัฐอเมริกาอย่างครอบคลุมโดยไม่ต้องดูที่บริษัทอเมริกันเป็นราย ๆ ไป การใช้ข้อมูลจากดัชนีช่วยให้เทรดเดอร์สามารถประหยัดเวลาได้อย่างมากซึ่งสามารถนำไปใช้ในการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมได้
ม้ามืดของตลาดหลักทรัพย์: กองทุนดัชนี
หนึ่งในดัชนีที่รู้จักกันดีที่สุดในโลกคือ Standard & Poor's 500 (S&P 500) และเป็นรายชื่อของบริษัท 70% ของบริษัทที่มีการซื้อขายกันแบบสาธารณะทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเป็นดัชนีทางเลือกของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เมื่อพูดถึงกองทุนดัชนีด้วย
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนมักขอคำแนะนำในการลงทุนจากผม” บัฟเฟตต์เขียนไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของเขาในปี 2016 “คำแนะนำปกติของผมก็คือกองทุนดัชนี S&P 500 ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ”
อย่างที่คุณอาจเห็นแล้วว่า ดัชนีเป็นมากกว่าแค่สื่อนำของข้อมูลสถิติและยังสามารถถูกใช้เป็นทางเลือกในกลยุทธ์การลงทุนมาตรฐาน ซึ่งทางเลือกนี้มาในรูปแบบของกองทุนดัชนี
เพื่อที่จะหาคำตอบว่ากองทุนดัชนีคืออะไร สิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับเราคือต้องดูที่ผลตอบแทนรายปีของดัชนีนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น S&P 500 มีผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนที่กองทุนรวมที่มีการบริหารแบบเชิงรุกส่วนใหญ่สามารถทำได้
ซึ่งนี่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะ S&P 500 ดัชนีส่วนใหญ่จะมีผลการวิเคราะห์ที่ดีกว่าเมื่อพูดถึงผลตอบแทนรายปี ความจริงที่ว่าดัชนีส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพสูงกว่ากองทุนรวมก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ใด ๆ นักวิชาการรู้ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มานานแล้วและจนถึงขนาดที่พวกเขาได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับมันที่เรียกว่า สมมติฐานตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis: EMH) ขึ้นมา
เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ มันค่อนข้างชัดเจนว่าดัชนีให้โอกาสที่ค่อนข้างปลอดภัยแต่กลับยังสามารถสร้างผลกำไรได้แก่เทรดเดอร์ นี่คือเหตุผลที่ในปี 1975 จอห์น โบเกิลสร้างกองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกองทุนแรกที่ไม่ได้ลงทุนในบริษัทที่เลือกโดยเฉพาะ แต่เป็นในบริษัทที่รวมกันเป็น S&P 500
โบเกิลได้เริ่มเทรนด์ที่ดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่ากองทุนดัชนีจะค่อนข้างไม่เป็นที่นิยมเมื่อเทียบกับกลยุทธ์การลงทุนมาตรฐาน เหตุผลเบื้องหลังข้อนี้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่ากองทุนดัชนีนั้นมีการบริหารแบบเชิงรับ ซึ่งหมายความว่าไม่มีการค้นคว้าวิจัยและการวิเคราะห์เข้ามาเกี่ยวข้องในกลยุทธ์นี้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะกองทุนเหมือนเป็นเพียงตัวสะท้อนถึงดัชนีที่เลือกเท่านั้น
สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ต้องการที่จะเป็นผู้กุมโชคชะตาของตนเอง และยังมีจินตนิยมในการทำเงินได้จากการตัดสินใจของตนเองโดยใช้การวิจัยเป็นฐานในระดับหนึ่งด้วย ที่จริง วอร์เรน บัฟเฟตต์ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของตัวเอง โดยได้ขับดัน Berkshire Hathaway ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดโดยใช้การวิเคราะห์ของเขาเอง
แต่ถึงกระนั้น ก็คงจะเป็นการเสียโอกาสหากจะไม่รวมกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำไว้ในพอร์ตการลงทุนของคุณสักอย่างน้อยหนึ่งกองทุน เพราะอย่างไรเสีย โอกาสในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและผลกำไรสูงนั้นก็แทบจะไม่มีอยู่แล้วในตลาดหลักทรัพย์