สินค้าโภคภัณฑ์และการซื้อขายล่วงหน้า
โพสต์เมื่อ: 20 มี.ค 2564 เวลา 15:02:38 น. อ่าน: 669 ครั้ง
สินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าว น้ำมันดิบ และทองคำ
สินค้าโภคภัณฑ์แต่ละชนิดจะเป็นไปตามข้อกำหนดด้านคุณภาพขั้นต่ำเพื่อลดความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ให้เหลือน้อยที่สุด ที่ทำสิ่งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ซื้อจะได้รับผลิตภัณฑ์เหมือนกันไม่ว่าจะผลิตขึ้นที่ไหน
เห็นได้ชัดว่ามีความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เป็นจำนวนมาก แต่ความต้องการนี้มักมาจากรัฐบาลหรือองค์กรขนาดใหญ่ นักลงทุนทั่วไปไม่ได้ต้องการเอาน้ำมันดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการหลายตันมาเก็บไว้ที่หลังบ้านของตน อย่างนั้นแล้วจะต้องซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์กันทำไม
คำตอบสำหรับคำถามนี้อยู่ในเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ นั่นคือ การซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นกระบวนการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาปัจจุบันแม้ว่าสินค้าจะถูกส่งมอบในภายหลัง
เทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมากไม่ได้ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตนซื้อจริง ๆ เพียงแค่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้จนกว่าราคาของสินค้านั้นจะเพิ่มขึ้น แล้วจึงค่อยขายสัญญานั้น
การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าอาจดูเหมือนแนวคิดที่ทันสมัย แต่การปฏิบัติเช่นนี้ได้เริ่มขึ้นมานานหลายพันปีแล้ว แม้บันทึกการซื้อขายเหล่านี้ส่วนใหญ่หายไปตามกาลเวลา แต่บันทึกรายละเอียดการซื้อขายล่วงหน้าในศตวรรษที่ 17 ของญี่ปุ่นยังคงไม่บุบสลาย
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในญี่ปุ่นโบราณเป็นผลมาจากการพัฒนาการเกษตร ด้วยการผลิตข้าวที่มากเกินกว่าการบริโภคไปอย่างรวดเร็ว พ่อค้าจึงต้องเก็บสินค้าไว้ในโกดัง ในฐานะวิธีการทำเงินในขณะที่ผลิตภัณฑ์อยู่ในที่จัดเก็บ พ่อค้าได้เริ่มขายตั๋วที่สามารถใช้แลกข้าวได้ในอนาคต สำหรับผู้บริโภคแล้ว นี่คือแรงที่รักษาเสถียรภาพในตลาด ความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลาดังกล่าวและการสู้รบอาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรได้ ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นตามมา การซื้อตั๋วข้าวในช่วงเวลาที่มีความสงบสุขจึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงอาหารหลักได้แม้เมื่อเกิดเรื่องเลวร้ายที่สุด
เมื่อเวลาผ่านไป การซื้อขายล่วงหน้าในสินค้าโภคภัณฑ์ได้พัฒนาขึ้นในตลาดทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกามีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลดความซับซ้อนของธุรกรรม เนื่องจากราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่ายในช่วงเวลาสั้น ๆ ตั้งแต่การจัดเก็บไปถึงการจัดส่ง สัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้กำจัดความซับซ้อนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาโดยการกำหนดราคาคงที่สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์เสียตั้งแต่เริ่มแรก
สัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าเบื้องต้น
การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นตลาดแบบหลายชั้นที่เต็มไปด้วยเทรดเดอร์ทุกประเภท โดยทั่วไป เทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มที่แตกต่างกัน:
ผู้ประกันความเสี่ยง
เกษตรกร คนขุดเหมือง ผู้ผลิต และบริษัทต่าง ๆ จะเหมาะกับกลุ่มนี้ ผู้ประกันความเสี่ยง (Hedger) เป็นเทรดเดอร์ที่ซื้อและขายสินค้าเพราะความจำเป็น เกษตรกรและคนขุดเหมืองจำเป็นต้องขายสินค้าของตนในขณะที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องซื้อวัตถุดิบ ที่ถูกเรียกว่าผู้ประกันความเสี่ยงเพราะใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของตน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พวกเขาลดความเสี่ยงของตนให้เหลือน้อยที่สุดด้วยใช้วิธีการซื้อขายล่วงหน้า โดยการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกันความเสี่ยงสามารถซื้อและขายสินค้าโภคภัณฑ์ได้ในราคาที่กำหนดไว้แทนการฝากความหวังไว้กับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนอยู่ตลอด
นักเก็งกำไร
ความผันผวนของราคาเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักเก็งกำไร (Speculator) เพราะเทรดเดอร์ประเภทนี้ไม่ต้องการเป็นเจ้าของสินค้าจริง ๆ แต่ต้องการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในราคาที่ได้กำไรแทน ซึ่งหมายความว่านักเก็งกำไรต้องการให้ราคาผันผวนมาก ๆ เพื่อให้การวิเคราะห์ของพวกเขานั้นสัมฤทธิ์ผล เทรดเดอร์ดังกล่าวให้ความสนใจอย่างมากกับข่าวทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมเพื่อคาดการณ์ว่าสินค้าตัวใดที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต
ร่วมโหวตคะแนนให้เรื่องนี้ คะแนน 0.0 จาก 5 ผู้อ่าน 0 คน
HTML FOR SHARE ::
BB CODE FOR SHARE: